การตีความความคุ้มครอง ตามเอกสารแนบท้ายการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
(เอกสารแนบท้าย ร.ย.01)  ซึ่งพบในกรมธรรม์รถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภท

  • การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้ายนี้ เป็นความคุ้มครองเพิ่มเติมที่ผู้เอาประกันภัยอาจเลือกซื้อได้ โดยจะคุ้มครองความบาดเจ็บของผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสารซึ่งอยู่ในรถยนต์ หรือกำลังขับขี่หรือกำลังขึ้นหรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย (ซึ่งเรียกว่า “ผู้ได้รับความคุ้มครอง”) ซึ่งเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ หากความบาดเจ็บที่ได้รับ เป็นผลทำให้ผู้ได้รับความคุ้มครอง
    – เสียชีวิต
    – สูญเสียมือ, เท้า, สายตา
    – ทุพพลภาพถาวร
    – ทุพพลภาพชั่วคราว
    (เว้นแต่ความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้ซื้อความคุ้มครองไว้ ซึ่งก็จะไม่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยระบุไว้ในส่วนของความคุ้มครองนั้นครับ)
  • แม้รถยนต์ไม่เกิดอุบัติเหตุ เพียงแต่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นต่อผู้ได้รับความคุ้มครอง จนเป็นผลให้ผู้ได้รับความคุ้มครองนั้นเสียชีวิต สูญเสียมือ, เท้า, สายตา, หรือทุพพลภาพ เช่น ขณะที่ผู้ขับขี่กำลังสตาร์ทรถ ปรากฏว่ามีคนร้ายบุกเข้ามายิง ทำให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตทันทีในรถยนต์นั้น ก็ถือได้ว่าผู้ได้รับความคุ้มครองได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจนเป็นผลให้เสียชีวิต ตามเงื่อนไขความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้ายนี้แล้ว บริษัทจึงมีหน้าที่ชดใช้จำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ทายาทของผู้ได้รับความคุ้มครองนั้น
  • การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล มิใช่การประกันภัยความรับผิด จึงไม่คำนึงว่าความเสียหายที่ผู้ได้รับความคุ้มครองได้รับจะเป็นความรับผิดของผู้ใด และแม้ว่าผู้ได้รับความคุ้มครองจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายเต็มจำนวนแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้บริษัทผู้รับประกันภัยตามเอกสารแนบท้ายนี้หลุดพ้นความรับผิดแต่อย่างใด บริษัทยังคงจะต้อง รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้
  • สำหรับจำนวนผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสาร ที่จะได้รับความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้ายนี้จะปรากฏอยู่ในตาราง (หรือในเอกสารแนบท้าย ในกรณีซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมภายหลัง) โดยผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่จะได้รับความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้ายนี้ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้น ไม่ว่าผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารนั้นจะเป็นผู้ใดก็ตาม หากเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สายตา หรือทุพพลภาพจากอุบัติเหตุที่เกิดในขณะที่ผู้นั้นอยู่ใน หรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัยแล้ว บริษัทก็จะต้องเข้ามารับผิดชดใช้จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความคุ้มครองนั้น ๆ ทั้งสิ้น และแม้ว่าการประกันภัยนี้จะเป็นการประกันภัยเพิ่มที่แนบท้ายการประกันภัยรถยนต์ประเภทระบุชื่อผู้ขับขี่ และผู้ขับขี่ที่ได้รับความเสียหายนั้นมิใช่ผู้ขับขี่ที่ระบุชื่อไว้ในกรมธรรม์ก็ตาม บริษัทก็ยังคงต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่นั้นเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยตามเอกสารแนบท้ายนี้
  • อนึ่งคำว่า “ ผู้โดยสาร” ตามเอกสารแนบท้ายนี้ หมายความถึง บุคคลใดๆก็ตามที่อยู่ใน หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย เว้นแต่ผู้ขับขี่ เช่น รถยนต์คันเอาประกันภัยเป็นรถบรรทุก (Pick Up) บุคคลที่โดยสารอยู่ที่กระบะท้ายก็ถือเป็นผู้โดยสารตามนัยนี้เช่นกัน มิได้จำกัดเฉพาะบุคคลที่โดยสารอยู่ในห้องโดยสารเท่านั้น
  • หากผู้เอาประกันภัยนอกจากจะซื้อความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้ายนี้แล้ว ยังซื้อความคุ้มครองการประกันภัยค่ารักษาพยาบาล (ร.ย. 02) ด้วยแล้ว การได้รับค่าสินไหมทดแทนตามเอกสารแนบท้ายนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความคุ้มครองที่จะเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลตามเอกสารแนบท้าย ร.ย.02 ได้อีก เช่น นายอุดมโดยสารรถยนต์คันเอาประกันภัยไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ทำให้นายอุดมได้รับบาดเจ็บ ต้องตัดเท้าหนึ่งข้างแล้ว นอกจากบริษัทจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยตามเอกสารแนบท้ายนี้แล้ว ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น บริษัทยังคงต้องรับผิดชดใช้ตามความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย ร.ย. 02 อีกด้วย
  • หากขณะเกิดอุบัติเหตุมีผู้โดยสารมากกว่าจำนวนที่ซื้อความคุ้มครองไว้ตามเอกสาร แนบท้ายนี้ โดยบางคนได้รับความเสียหาย บางคนไม่ได้รับความเสียหาย บริษัทจะอ้างว่า บุคคลที่ไม่ได้รับความเสียหาย คือบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองไม่ได้ หรือบริษัทจะใช้วิธีการนำเอาจำนวนเงินเอาประกันภัยสูงสุดต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง มาหารด้วยจำนวนคนที่โดยสารไปทั้งหมด เพื่อหาค่าเฉลี่ยว่า แต่ละคนควรได้รับความคุ้มครองเท่าใด บริษัทจึงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อคนเท่านั้น ก็ไม่ได้เช่นกัน
  • ตัวอย่างเช่น รถบรรทุกซื้อความคุ้มครองผู้ขับขี่ 1 คน ผู้โดยสาร 2 คน แต่ขณะเกิดอุบัติเหตุมีนายอุดมเป็นผู้ขับขี่ และมีผู้โดยสารร่วมไปด้วยอีก 5 คน ไปประสบอุบัติเหตุทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิต 3 คน นายอุดมและผู้โดยสารอีก 2 คนบาดเจ็บเล็กน้อย หากความคุ้มครองตาม ร.ย.01 คุ้มครองการเสียชีวิต 50,000 บาท/คน ในส่วนผู้ขับขี่คือนายอุดม เพียงได้รับบาดเจ็บ จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ร.ย.01 นี้ และเมื่อคุ้มครองผู้โดยสารไว้ 2 คน จำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดต่ออุบัติเหตุครั้งนี้คือ 2 X 50,000 = 100,000 บาท เมื่อมีผู้โดยสารมาทั้งสิ้น 5 คน เท่ากับจำนวนเงินคุ้มครองต่อคน = 100,000/5 = 20,000 บาท/คน เมื่อมีผู้เสียชีวิต 3 คน บริษัทจึงรับผิดชดใช้เพียง 20,000 X 3 = 60,000 บาท มิได้ บริษัทจะต้องจ่ายเต็มวงเงินคุ้มครอง 2 คน = 2 X 50,000 = 100,000 บาท แล้วให้ทายาทของผู้ได้รับความคุ้มครองไปเฉลี่ยตามส่วนกันเอง
  • ข้อยกเว้นไม่คุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย ร.ย. 01 นี้ มีเพียง 2 กรณี คือ
  1. บริษัทไม่ต้องรับผิดต่อการเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพของผู้ได้รับความคุ้มครองที่เป็นผลมาจากการกระทำผิดอาชญากรรมสถานหนัก เช่น การใช้รถคันเอาประกันภัยไปปล้นทรัพย์ เป็นต้น แต่ความเจ็บที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ร.ย. 01 นี้ จำกัดเฉพาะความบาดเจ็บของผู้ที่ก่ออาชญากรรมนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ได้รับความคุ้มครองอื่นที่มิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการก่ออาชญากรรมนั้น
  2. บริษัทไม่ต้องรับผิดต่อการเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพของผู้ได้รับความคุ้มครองที่เป็นผลมาจากมหันตภัย เช่น สงคราม การสู้รบ เป็นต้น 
  • ดังนั้นหากผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสารได้รับอุบัติเหตุขณะอยู่ใน กำลังขับขี่ กำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์คันเอาประกันภัย อันเป็นผลให้ผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสารนั้น เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ และมิใช่กรณีที่เข้าข้อยกเว้นตาม 1. หรือ 2. ข้างต้นแล้ว บริษัทก็จะต้องรับผิดชดใช้จำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสาร หรือทายาทแล้วแต่กรณี
  • ผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารที่จะได้รับความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย ร.ย.01 จะต้องเป็นผู้ขับขี่ผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุขณะที่อยู่ใน กำลังขับขี่ กำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์ จนเป็นผลผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารนั้นเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ เช่น รถหัวลากมีประกันภัยประเภทหนึ่ง ซึ่งคุ้มครอง ร.ย. 01 ไว้ด้วย ส่วนรถพ่วงมีแต่ พ.ร.บ. ขณะเกิดเหตุเด็กรถอยู่บนส่วนตัวพ่วง ถอยไปกระแทกต้นไม้ เด็กรถที่อยู่ในส่วนตัวพ่วงถึงแก่ความตาย กรณีดังกล่าวเป็นรถลาก รถพ่วงโดยสภาพเมื่อลากจูงกันไป ถือเป็นรถคันเดียวกัน ไม่ว่าเด็กรถจะอยู่บนส่วนไหนของรถ ก็ถือว่า อยู่ในรถคันเดียวนั้นนั่นเอง เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะที่เด็กรถอยู่ในรถ เป็นผลให้เด็กรถนั้นเสียชีวิต บริษัทจึงต้องจ่ายค่าทดแทนตาม ร.ย.01 ให้แก่ทายาทของเด็กรถนั้น
  • อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีที่ผู้ขับขี่/ผู้โดยสารถูกคนร้ายจี้เพื่อชิงเอารถยนต์คันเอาประกันภัยไม่ว่าการทำร้ายจะเกิดในรถยนต์ หรือคนร้ายลากตัวผู้ขับขี่/ผู้โดยสารออกไปนอกรถยนต์ แล้วทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้ขับขี่/ผู้โดยสารนั้นเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ ต้องถือว่า การถูกทำร้ายมีสาเหตุมาจากการเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารที่ควบคุม ครอบครองรถยนต์ (อยู่ในรถยนต์) การเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพก็ยังคงได้รับความคุ้มครองตาม ร.ย.01 นี้อยู่ส่วนกรณีที่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของบริษัทตาม 1. เช่น นายอุดมขับรถยนต์คันเอาประกันภัยโดยมีนางสมบูรณ์ผู้เป็นภรรยานั่งไปด้วย ระหว่างทางนายอุดมแวะจอดที่สถานีบริการน้ำมัน เพื่อลงไปปัสสาวะ โดยมิได้ดับเครื่องยนต์แต่อย่างใด เนื่องจากนางสมบูรณ์ ภรรยานอนหลับอยู่บนรถ ในระหว่างนั้นเองนายทุยต้องการจะขโมยรถ จึงไปเปิดประตูรถคันดังกล่าวและขับหลบหนีไป นางสมบูรณ์ตื่นขึ้นมาจึงร้องเรียกให้คนช่วย นายทุยเกิดตกใจ!! ประกอบกับมีผู้ขับรถไล่ตาม จึงขับรถหลบหนีไปด้วยความรวดเร็ว แต่รถยนต์คันดังกล่าวเกิดเสียหลัก รถพลิกคว่ำทำให้ทั้งนายทุย และนางสมบูรณ์เสียชีวิต กรณีดังกล่าวต้องถือว่า การเสียชีวิตของนายทุย และนางสมบูรณ์เป็นผลมาจากการประกอบอาชญากรรมสถานหนักของนายทุย ซึ่งแม้จะเข้าข้อยกเว้นตาม 1. นี้ก็ตาม ก็มีผลเพียงการเสียชีวิตของนายทุยผู้ก่ออาชญากรรมเอง ไม่ได้รับความคุ้มครอง ส่วนนางสมบูรณ์ ซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรมในครั้งนี้ การเสียชีวิตของนางสมบูรณ์จึงยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ครับ